ประเด็นร้อน
มะเร็งร้าย คอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 22,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ - -
นับเป็นอุทาหรณ์สอนใจข้าราชการไทยจำนวนนับล้านคนได้เป็นอย่างดี สำหรับกรณีองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืนจำคุก 10 เดือน นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินอันเป็นเท็จ และห้ามนายสุพจน์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งปลัดคมนาคม ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายสุพจน์ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที
คดีนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2554 เกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ที่เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯและต่อมาเรื่องได้บานปลายเมื่อตำรวจจับคนร้ายได้ จากการสอบปากคำพบภายในบ้านอดีตปลัดคมนาคมผู้นี้มีเงินสดซุกซ่อนจำนวนหลายร้อยล้านบาท จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้ามาตรวจสอบขยายผล กระทั่งมีมติชี้มูลความผิดฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องด้วย นายสุพจน์ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินต่าง ๆ ได้ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องคดีแพ่งโดยล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษา ยึดทรัพย์นายสุพจน์ จำนวน 64 ล้านบาท ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา
นอกจากนี้ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดนายสุพจน์กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ รวม 5 ครั้ง ระหว่างดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ปี 2552-2554 ใน 2 รายการคือ
(1) เงินสดจำนวน 17 ล้านบาท และ
(2) รถยนต์โฟล์คสวาเกน ราคา 3 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ นายสุพจน์ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 10 เดือน และล่าสุด ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายสุพจน์ ในคดีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เนื่องจากระหว่างดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง นายสุพจน์ ได้เข้าไปพัวพันกับการทุจริตโครงการถนนปลอดฝุ่นและโครงการอื่น ๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เปรียบเสมือนมะเร็งร้าย ที่กัดกินสังคมไทยมาช้านาน ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต คลิตการ์ด(Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่นในระดับสากลได้เสนอแนวคิด ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นหากระบบบริหารงานมีการผูกขาด (Monopoly) และมีการใช้ดุลพินิจสูง (Discretion) ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาจำเป็นต้องลดอำนาจผูกขาด และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบ คู่ขนานกับการปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมไม่ทนต่อการทุจริต แม้เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลานาน แต่หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จะเป็นสนิมที่กัดกร่อนประเทศชาติ กระทั่งพังทลายในที่สุด
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน